Siam@Siam Unlimited Designs

Text: Indy
Photo: Mr.K

เช้าวันนี้คุณตื่นมาแล้วรู้สึกว่าชีวิตดูน่าเบื่อ ซ้ำซาก จำเจอยู่หรือเปล่า บางทีอาจเป็นเพราะยังไม่ได้เติมอาหารสมองให้ตัวเองก็เป็นได้ ลองปลีกเวลาจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ จากเกมสุดมัน ไปรู้จักสถานที่ใหม่ๆ ที่อาจทำให้ได้ไอเดียดีๆ ในการทำงานกันบ้างดีกว่า

ก่อนหน้านี้เวลาขับรถเข้าเส้นพระรามหนึ่งเพื่อจะไปสยาม แหล่งช้อปปิ้งของคนทุกเพศทุกวัย เรามักไม่ให้ความสนใจตึกรามบ้านช่องที่อยู่สองข้างทางมากนัก ทว่าวันนี้มีสิ่งก่อสร้างใหม่เกิดขึ้น จนทำให้ผู้สัญจรบนถนนเส้นนี้ต้องชะลอรถดูด้วยความตื่นตาตื่นใจ

เดิมทีแล้วพื้นที่ 2 ไร่นี้เป็นโรงงานรถยนต์ของ Siam Motor แห่งตระกูลพรประภา จนกระทั่งวันหนึ่ง พรพินิจ พรประภา กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัทสยามกลการ หนึ่งในทายาทรุ่น "พร" เกิดความคิดในการสร้างโรงแรมที่มีความแปลกใหม่ แตกต่างในด้านงานดีไซน์อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในประเทศไทย และเป็นตัวของตัวเองอย่างโดดเด่น อาคารแห่งนี้จึงมีรูปลักษณ์ที่สูงโดดเด่นและออกแบบมาอย่างแปลก และแตกต่างในนาม Siam@Siam Design Hotel & Spa

ภายในโรงแรมแห่งนี้ไม่มีฝ้าเพดาน วอลเปเปอร์หรือพรมปูพื้น แต่เลือกที่จะโชว์ความดิบของวัสดุที่นำมาใช้ในแนว Loft ตามแนวคิด "โรงแรมสไตล์โรงงาน" (Industrial Unfinished) โครงสร้างทั้งหมดจึงกลายเป็นงานศิลป์ที่ประกอบด้วยเหล็ก ไม้และปูนเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นผนังปูนเปลือยที่ฉาบอย่างหยาบๆ ไม่เน้นความเนียนเรียบ นำหมอนรถไฟขนาดใหญ่มาโอบล้อมตัวตึก ให้ความรู้สึกว่าแวดล้อมด้วยธรรมชาติ เพดานเปลือย ท่อน้ำและท่อแอร์ทุกชั้น มีการนำเศษไม้มาปิดบังความไม่เรียบร้อยบางส่วน โดยการนำมาวางขัดกันไปมาเพื่อเพิ่มมิติ ที่สำคัญเลือกใช้สีส้มเป็นสีหลัก เพื่อเป็นตัวแทนของความสนุกสนานร่าเริงที่เริ่มต้นตั้งแต่ย่างก้าวแรกที่สัมผัส

"ด้วยพื้นที่ที่จำกัด เราจึงจำเป็นต้องทำทุกสัดส่วนให้มีประโยชน์ใช้สอยมากกว่าหนึ่ง" คำบอกเล่าของ อาจารย์เม้ง - กิติศักดิ์ สุธรรมโชติ สถาปนิกผู้ออกแบบโรงแรมแห่งนี้ ซึ่งการใช้ประโยชน์มากกว่าหนึ่งของอาจารย์เม้งก็คือ การทำให้ห้องๆ หนึ่งมี "หน้าที่เกินความรับผิดชอบ" คือ ใช้ประโยชน์ได้หลากหลายรูปแบบ เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับพื้นที่ส่วนนั้น ยิ่งเมื่อที่นี่ออกแบบให้มีเพียง 22 ชั้น ดังนั้นการจัดวางว่าให้แต่ละชั้นมีหน้าที่อะไรบ้างจึงเป็นเรื่องสำคัญ และในที่สุดบทสรุปทั้งหมดจึงลงตัว

ชั้นล่างเป็น Party House One ห้องอาหารขนาดใหญ่ กว้างเกือบเต็มพื้นที่เพื่อให้มีความโล่ง โปร่งสบาย แบ่งออกเป็น 3 โซน ภายในจัดวางโต๊ะเก้าอี้ไม้สีดำ แซมด้วยชุดโต๊ะไม้สีสันสดใส เพื่อไม่ใ้ห้ห้องๆ นี้ดูขรึมจนเกินไปนัก ส่วนตรงกลางเป็นบาร์สำหรับนักดื่ม ให้อารมณ์สุขุมด้วยไม้ขัดมันพร้อมเก้าอี้ไม้ที่ออกแบบในสไตล์ย้อนยุค แค่เดินเข้าไปก็ได้ใจคนรักสงบที่ชอบนั่งเล่นสบายๆ ในบรรยากาศแปลกใหม่แล้ว

แต่หากชอบความเป็นส่วนตัวสุดๆ ก็ต้องขึ้นขั้นลอย ซึ่งที่นั่งส่วนมากจะเป็นโซฟาตัวใหญ่ นั่งสบาย สุดท้ายเป็นส่วนของโอเพ่นแอร์ที่นิยมจัดเลี้ยงในสไตล์บาร์บีคิวปาร์ตี้ แม้ว่าห้องอาหารจะเนืองแน่นไปด้วยผู้คน แต่บรรยากาศโดยรวมของชั้นนี้กลับไม่พลุกพล่านและอึดอัด เพราะยกล็อบบี้ให้เคลื่อนตัวขึ้นไปอยู่บนชั้น 11 เพื่อให้แขกได้เพลิดเพลินกับวิวทิวทัศน์รอบนอก โดยเฉพาะผืนหญ้าสีเขียวของสนามศุภชลาสัย แม้ว่าล็อบบี้ของที่นี่จะไม่โอ่โถงนัก แต่มีความโดดเด่นด้วยโซฟาขนาดใหญ่สีส้มสดใส แจกันเหล็กขนาดใหญ่ และโคมไฟรูปลักษณ์สวยแปลกตาที่ใช้กิ่งไม้สามง่ามมาทำเป็นเสา


ถัดมาเป็น Bar Eleven บาร์ขนาดเล็กสำหรับนักพักผ่อนในบรรยากาศสบาย ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนให้เป็นห้องประชุมขนาดย่อมได้ ผนังห้องนี้ใช้อิฐมอญเพื่อให้ความรู้สึกอบอุ่น และอีกหนึ่งจุดเด่นของชั้นนี้ ก็คือ สระว่ายน้ำที่อยู่ด้านนอก ซึ่งอาจารย์เม้งให้เหตุผลว่า "การที่ให้สระว่ายน้ำอยู่ชั้นเดียวกับล็อบบี้ เป็นเพราะต้องการประหยัดพื้นที่ และสร้างความประทับใจให้แขกได้เห็นมุมมองใหม่ๆ บ้าง บางคนมองว่าไม่มีความเป็นส่วนตัว แต่อีกมุมมองหนึ่งเรากลับคิดว่า หากเราให้แขกที่มาพักสามารถทำอะไรก็ได้ราวกับอยู่ในบ้านของตัวเอง โดยไม่ต้องมีกฎเกณฑ์อะไรมากนัก เพียงแต่อยู่ในขอบเขตของความสุภาพก็คงจะดีไม่น้อย ซึ่งผลตอบรับก็ออกมาดี"


"อย่างที่เห็นแขกเดินเท้าเปล่า ใส่เสื้อคลุมสำหรับอาบน้ำ เดินผ่านล็อบบี้เพื่อขึ้นลิฟท์กลับห้องพัก หรือเข้ามาสั่งเครื่องดื่มที่ Bar Eleven อาจจะรู้สึกแปลกๆ แต่ก็ไม่น่าจะทำให้รู้สึกแตกตื่นสักเท่าไรนัก และเสน่ห์ของสระว่ายน้ำ คือ เราแยกบริเวณอาบแดดกับสระว่ายน้ำออกจากกัน ออกแบบสระแบบ Over Floor คือไม่มีขอบ มองเห็นวิวทิวทัศน์รอบนอกได้เต็มที่ ส่วนน้ำที่ไหลผ่านไปด้านล่างนั้น จะตรงกับสปาที่อยุ่ชั้น 10 พอดี เพื่อให้เสียงน้ำไปเพิ่มสมดุลของความผ่อนคลายขณะนวด"

Spa Ten คือสปาที่อาจารย์เม้งพูดถึง งานศิลป์ในห้องนี้ไม่แตกต่างจากพื้นที่ส่วนอื่นของโรงแรมเลย ยังคงความดิบที่ผสมผสานไปด้วยดิน น้ำ ลม ไฟ แฝงอารมณ์ของความเป็นตะวันออกอยู่บ้าง ผนังบางส่วนเป็นปูนเปลือย บางส่วนเป็นอิฐมอญ อาจารย์เม้งกล่าวว่า "เมื่อสปาเป็นสถานี่สำหรับผ่อนคลาย การตกแต่งแนวนี้ให้ความรู้สึกหยาบไปสักหน่อย เสียงเพลงและกลิ่นอาจจะช่วยได้ไม่มากนัก ดังนั้นเราจึงใช้ไม้มาเป็นส่วนประกอบ เพื่อให้มีความเป็นธรรมชาติ"

นอกจากนี้ ยังมีภาพเขียนบนเพดานที่ช่วยลดทอนความรู้สึกให้สบายยิ่งขึ้นอีกด้วย ส่วนห้องพักที่อยู่ชั้น 14 - 24 นั้น (ชั้น 12 - 13 ถูกตัดออกตามความเชื่อ) ตกแต่งอย่างเรียบง่าย ไม่หรูหราจนอึดอัด เน้นหน้าต่างบานกว้างเพื่อให้เห็นทิวทัศน์ได้รอบ เพดานสูง ออกแบบห้องน้ำให้มีหน้าต่าง สามารถเปิดออกมามองเห็นบริเวณห้องพักเพื่อดูทีวีหรือชมวิวขณะอาบน้ำได้ แถมยังให้ความรู้สึกว่าห้องกว้างขึ้น เลือกใช้เฟอร์นิเจอร์อย่างเตียงขนาดใหญ่เป็นพิเศษเพื่อการพักผ่อนอย่างเต็มที่

ยังมีงานดีไซน์อีกหลายจุดที่เป็นเอกลักษณ์ของ Siam@Siam ไม่ว่าจะเป็นที่จับประตูที่นำลูกปืนรถยนต์มาเรียงตัวกันบนประตูกระจก นำความไม่สมบูรณ์มาทำให้เป็นศิลปะด้วยการใช้เศษไม้ที่ผุๆ แหว่งๆ มาย้อมสีให้สวยเพื่อตกแต่งตามมุมต่างๆ มีผลงานประติมากรรมให้ชมอย่างเพลิดเพลิน ราวกับอยู่ในห้องแสดงงานศิลปะ

คุมสีสันให้อยู่ในเอิร์ธโทน ซึ่งแม้ว่าจะเลือกสีส้มเป็นสีหลักแต่ก็ไม่จัดจ้านจนหลุดคอนเซ็ปต์ เรียกได้ว่าให้ความใส่ใจในทุกพื้นที่ โดยไม่ละเลยสักตารางนิ้ว และเมื่อถามว่าไฮไลท์ของโรงแรมอยู่ตรงไหน ก็ได้รับคำตอบจากอาจารย์เม้งว่า "โรงแรมนี้มีความสำคัญเท่ากันหมด เพราะทุกอย่างต้องมีความสมดุลเป็นหยินหยาง เอื้ออำนวยพื้นที่ด้วยตัวมันเอง การใช้อิฐมอญหรือปูนเปลือยซึ่งเป็นสิ่งก่อสร้างที่มีมาตั้งแต่ในอดีตก็ใช่ว่าต้องการย้อนยุค เพียงแต่ต้องการนำมาผสมผสานกับไอเดียของความเป็นอาร์ต ดึงสีสันออกไปให้เป็นจุดสนใจ จึงออกมาอย่างที่เห็น"

"ที่เห่งนี้มีทั้งความสงบ ผ่อนคลายและสนุก ลดทอนความรู้สึกว่าที่นี่เป็นโรงแรม อยู่ที่นี่แล้วเหมือนกับอยู่บ้าน หากจะกล่าวว่าโรงแรมนี้เกิดขึ้นมาสำหรับคนที่รักงานศิลป์ ชอบความแปลกไม่เหมือนใคร มีสไตล์เป็นของตัวเองก็คงจะไม่ผิดนัก"




ถ้าจะบอกว่าที่นี่คือศิลป์ที่ดีไซน์จากใจรัก ก็คงจะเป็นศิลปะชิ้นที่ใหญ่อีกชิ้นหนึ่งเท่าที่เคยพบเห็นมา และยังเป็นงานที่มีหลากหลายอารมณ์ ควรที่คุณจะไปเห็นกับตาตัวเองสักครั้ง

ขอขอบคุณ คุณกิติศักดิ์ สุธรรมโชติ
Siam@Siam Design Hotel & Spa

ถนนพระราม 1 ปทุมวัน กรุงเทพฯ โทร. 0-2217-3000

www.siamatsiam.com

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น